เรื่องน่ารู้ของ มวยไทย

เรื่องน่ารู้ของ มวยไทย


มวยไทย ( Muay Thai ) เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่โบราณ นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้ วันนี้เรามีเรื่องน่ารู้ที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับ มวยไทย มาฝากกัน

 

     กระทรวงวัฒนธรรม เป็นกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้เห็นความสำคัญของ มวยไทย ( Muay Thai ) จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียน มวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของ มวยไทย มาดูกันว่าเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ มวยไทย มีอะไรกันบ้าง

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 1 : ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9

     อดีตนั้น มวยไทย ( Muay Thai ) ถูกเรียกว่า "ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9" ( Art of nine Limbs ) เพราะมีการต่อสู้โดยใช้อาวุธบนร่างกายทั้งหมด 9 จุด ( นวอาวุธ ) ได้แก่ หมัด 2, ศอก 2, เข่า 2,เท้า 2 และ หัว 1

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 2 : ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8

     เมื่อกี้ยังเป็นศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9 แต่ทำไมเหลือแค่ 8  ปัจจุบันชาวต่างชาติ มักจะรู้จัก มวยไทย ( Muay Thai ) ในนาม “ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 8” ( Art of Eight Limbs ) นั่นก็เพราะว่า กติกา มวยไทย ปัจจุบัน ตัดการใช้หัวโขกออกไป และยก “ศาสตร์แห่งอาวุธทั้ง 9” ( Art of Nine Limbs ) ให้เป็นของมวยพม่าแทน เพราะมวยพม่ายังสามารถใช้หัวโขกได้

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 3 : มวยคาดเชือก

     มวยไทย ในอดีตต่อสู้ด้วยมือเปล่า หรือใช้ด้ายดิบ ที่เรียกว่า “คาดเชือก” ในการพันมือบ้างก็ไปถึงศอก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของมือ และแขน นอกจากป้องกันการบาดเจ็บแล้วการคาดเชือกยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการออกอาวุธด้วย

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 4 : สนามมวยแห่งแรก

     ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี ( แมค เศียรเสวี ) ได้เริ่มจัดแข่งขันมวยไทยอาชีพครั้งแรกที่ “สนามมวยสวนกุหลาบ” ซึ่งเป็นสนามมวยถาวรแห่งแรก ที่จัดการแข่งขันเป็นประจำ ต่อมาจึงเกิดสนามมวยอื่น ๆ อีกมากมายตามมาเรื่อย ๆ

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 5 : เวทีมวยระดับมาตรฐานแห่งแรกของประเทศไทย

     จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี น้อมสนองพระราชดำริ และมอบหมายให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง “สนามมวยราชดำเนิน” หรือ “เวทีมวยราชดำเนิน” ( Rajadumnern Stadium ) ขึ้น โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 2484 และเสร็จสิ้นหลังสงครามในปี 2488 และเปิดทำการชกครั้งแรกในช่วงวันที่ 23 ธ.ค. 2488 โดยมีนายปราโมทย์ พึ่งสุนทร เป็นนายสนามคนแรก และเวทีมวยราชดำเนิน ได้กลายเป็นเวทีมวยระดับมาตรฐาน 1 ใน 2 ของประเทศไทยเลยทีเดียว

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 6 : พระเจ้าเสือ กษัตริย์ผู้โปรดการชกมวย

     ในประวัติศาสตร์ถ้าใครได้ศึกษาหาอ่านจะรู้ว่า “สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8” พระมหากษัตริย์องค์ที่ 29 แห่งกรุงศรีอยุธยา หรือ “พระเจ้าเสือ” พระองค์เป็นกษัตริย์ที่โปรดการชกมวยมาก ทรงคิดท่าแม่ไม้ มวยไทย ขึ้นมาเป็นแบบฉบับเฉพาะพระองค์ เรียกว่า “มวยไทย ตำรับพระเจ้าเสือ” และได้รับการถ่ายทอดเป็นตำรา มวยไทย ให้แก่คนรุ่นหลังจนถึงทุกวันนี้

     ครั้งหนึ่งพระเจ้าเสือ พระองค์ยังเคยปลอมองค์โดยแต่งกายเป็นชาวบ้าน ออกไปชกมวยกับนักมวยฝีมือดีของอำเภอวิเศษไชยชาญ และสามารถชกชนะนักมวยเอกได้ถึง 3 คน ได้แก่ นายกลาง หมัดตาย, นายใหญ่ หมัดเหล็ก และ นายเล็ก หมัดหนัก อีกด้วย

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 7 : “ขุนหมื่นครูมวย”

     ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดแข่งขันมวยคาดเชือกขึ้นหน้าพระที่นั่ง ณ บริเวณหน้าพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศคัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้าแข่งขัน หากนักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ พระราชทานยศ และบรรดาศักดิ์ เป็น “ขุนหมื่นครูมวย” ถือศักดินา 300 จำนวน 3 คน คือ

- นายปล่อง จำนงทอง จากเมืองไชยา เป็น “หมื่นมวยมีชื่อ”

- นายกลึง โตสะอาด จากเมืองลพบุรี เป็น “หมื่นมือแม่นหมัด”

- นายแดง ไทยประเสริฐ จากเมืองโคราช เป็น “หมื่นชงัดเชิงชก”

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 8 : หนุมานถวายแหวน อันลือลั่น

     นักมวยท่าเสาแห่งเมืองอุตรดิตถ์ “นายแพ เลี้ยงประเสริฐ” ผู้ที่ชก “นายเจีย พระตะบอง” นักมวยฝีมือดีจากแถบชายแดนตะวันออก ด้วยการสืบสานท่าทิ่มหมัดหงาย เข้าที่ลูกกระเดือกในท่า “หนุมานถวายแหวน” อันลือลั่น จนนายเจียถึงกับหมดสติ และสิ้นใจในเวลาต่อมา อันถือเป็นอุบัติเหตุ และเป็นเหตุการณ์สำคัญในยุคสนามมวยหลักเมือง ( ร.7 พ.ศ. 2466-2472 ) เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กฎกติกามวย ตลอดจนมีการบังคับให้สวมนวมแบบสากลแทน

 

เรื่องน่ารู้เรื่องที่ 9 : สถาปนา มวยไทย

     กระทรวงวัฒนธรรม โดยให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มีการสถาปนา “วันมวยไทย” ขึ้น โดยได้พิจารณาจากข้อเสนอต่าง ๆ อย่างรอบคอบเป็นที่เรียบร้อย ไม่มีการโต้แย้ง ซึ่งในที่สุดได้เห็นชอบให้วันขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ( สมเด็จพระเจ้าเสือ ) คือ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมวยไทย”

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

5 นักมวย ในตำนานขวัญใจคนไทย

มวยไทย เพื่อการลดน้ำหนัก สร้างหุ่นฟิต


muaythaistreet

สงวนลิขสิทธ์ 2019 MuaythaiStreet Co., Ltd. สงวนลิขสิทธ์ทั้งหมด

เปิดให้บริการทุกวัน ส่งทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์

98/3-5 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200