เทคนิคเชิงรุกและรับของ มวยไทย

เทคนิคเชิงรุกและรับของ มวยไทย


ศิลปะการต่อสู้ทั่วโลก จะมีจังหวะเชิงรุกและรับกันทั้งนั้น โดยเฉพาะ กีฬาศิลปะการต่อสู้ มวยไทย เทคนิคการต่อสู้ในเชิงรุกและรับนั้น มีความพิเศษกว่าศิลปะการต่อสู้ชนิดอื่น พิเศษกว่าอย่างไร เราไปหาคำตอบกันเลย

 

     เทคนิคเชิงรุกและรับของ มวยไทย คือการเลือกใช้ไม้มวยไทย และกลวิธีต่างๆ ให้ผสมผสานกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ไม้มวยไทยที่ใช้ในการชกมวยไทย ได้แก่ หมัด, เท้า, เข่า และศอก การใช้หมัดชกคู่ต่อสู้ เรียกว่า "ไม้หมัด" การใช้เท้าเตะคู่ต่อสู้เรียกว่า "ไม้เตะ" การใช้เท้าถีบเรียกว่า "ไม้ถีบ" การใช้เข่าเรียกว่า "ไม้เข่า" การใช้ศอกเรียกว่า "ไม้ศอก" และยังมีการแบ่งตามลักษณะความสั้น - ยาว ของการใช้ไม้มวยไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ไม้สั้น และไม้ยาว เช่น การใช้หมัดเหวี่ยงสั้น หมัดงัด ศอกและเข่า เรียกว่า "ไม้สั้น" การใช้เท้าเตะ ใช้เท้าถีบ หมัดเหวี่ยงยาว เรียกว่า "ไม้ยาว"

 

     ดังนั้นการเตะ, ถีบ, เข่า และศอก เรียกว่า "แม่ไม้" ส่วนการต่อย หมัดงัด หมัดเหวี่ยงสั้น - ยาว การเตะตรง, เตะตัด, เตะตวัด, เตะเฉียง, เตะกลับหลัง, ถีบตรง, ถีบข้าง, ถีบกลับหลัง, เข่าตรง, เข่าเฉียง, เข่าตัด, เข่าลอย, ศอกตี, ศอกตัด, ศอกกลับหลัง, ศอกพุ่ง เหล่านี้เรียกว่า "ลูกไม้"

 

ไม้รุก คือ?

     ไม้รุก คือ หลักวิชาการในการใช้ไม้มวยต่างๆ มาประกอบกันเพื่อเป็นการรุกโจมตีคู่ต่อสู้ มีทั้งการหลอกล่อ และเข้าสู้กันจริง โดยทั่วไป ไม้นำของไม้รุกจะเป็นไม้ยาว มีความเร็ว รัดกุม มีหลักมั่นคง สามารถใช้ไม้อื่นต่อไปได้ เช่น การถีบตรง, การเตะเฉียง, เตะลิด ส่วนไม้ตามนั้นจะเป็นไม้ยาวหรือไม้สั้นก็ได้

 

     ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการใช้ไม้จังหวะแรกว่าได้ผลดีประการใด ดังนั้นจึงนิยมใช้ไม้มวยแบบสลับบนล่าง หรือซ้ายสลับขวา เพื่อให้คู่ต่อสู้พะวง ถ้าใช้ไม้รุกเฉพาะส่วน หรือส่วนล่างอย่างเดียว จะง่ายต่อการป้องกันแก้ไข โดยทั่วไป ไม้รุก มีตั้งแต่จังหวะเดียวขึ้นไป จนไม่จำกัดจำนวน แต่นิยมใช้และได้ผลดี รวมไปถึงการฝึกหัดได้ง่าย คือ ไม้รุก 1 จังหวะ, 2 จังหวะ และ 3 จังหวะ

 

     ไม้รุก 1 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปแล้วใช้ไม้มวยเพียงอย่างเดียว เช่น การชกหมัดตรงขวา, เตะขวา, โยนเข่าขวา หรือด้านที่ถนัดที่สุด เรียกว่า "ไม้รุกจังหวะเดียว"

 

     ไม้รุก 2 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวย 2 จังหวะ โดยในจังหวะที่ 1 เป็นไม้หลอก เพื่อให้คู่ต่อสู้เสียหลัก แล้วตามไปใช้ไม้จริงในจังหวะที่ 2 ต้องตามกันไปอย่างรวดเร็ว เรียกว่า "ไม้รุก 2 จังหวะ"

 

     ไม้รุก 3 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1, 2 และ 3 ติดต่อกัน เช่น ต่อยหมัดนำ, หมัดตรง  แล้วเตะตาม ถ้าฝึกจนเกิดความชำนาญแล้ว ก็สามารถใช้ไม้สั้น เช่น ศอก, เข่า, หมัดตวัด, หมัดงัด เป็นไม้นำได้เช่นกัน

 

     ไม้รุก 4 จังหวะ คือ การรุกเข้าไปใช้ไม้มวยจังหวะที่ 1, 2 และ 3 ติดต่อกัน และไม้รุกที่ออกไปต่างก็หวังผลทั้งหมด แล้วแต่โอกาส ส่วนมากจังหวะที่ 1 และ2 เป็นไม้หลอก จังหวะที่ 3 และ 4 เป็นไม้จริง

 

ไม้รับ คือ?

     ไม้รับ คือ หลักวิชาการในการนำเอาไม้มวยต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขการจู่โจมของฝ่ายรุก ไม้มวยชนิดหนึ่ง อาจแก้การจู่โจมของไม้มวยชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดก็ได้ หรือแก้ทีละไม้ เช่น แก้การต่อย, แก้การเตะ, แก้การถีบ, แก้การศอก แต่ในการชกมวยจริงๆ ไม่ได้ชก หรือเตะเพียงจังหวะเดียว แต่จะรุกเป็นชุด เช่น ต่อยนำ, เตะตาม แล้วเข่าตาม หรือต่อยตามเข่า

 

     ความหมายรวมไปถึงการทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขการจู่โจม เช่น การถอยออกให้พ้นระยะ เพื่อไม่ให้ถูกอาวุธของคู่ต่อสู้, การหลบหลีก, การปัดป้อง และการตอบโต้ ซึ่งมีการชิงลงมือก่อน การถอยแล้วตอบโต้ การหลบหลีกแล้วตอบโต้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก ohlor

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

- เข่า อาวุธมวยไทยสุดอันตราย

- ผู้หญิง กับ มวยไทย


muaythaistreet

สงวนลิขสิทธ์ 2019 MuaythaiStreet Co., Ltd. สงวนลิขสิทธ์ทั้งหมด

เปิดให้บริการทุกวัน ส่งทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์

98/3-5 ถ.พระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200